ฉลองครบ 500 ลูก! เกร็ดประตูของ แมนยู ใน แชมเปี้ยนส์ ลีก


 ประตูที่ แอนโธนี่ อีแลงก้า ทำให้กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในเกม ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รอบ 16 ทีมสุดท้าย นัดบุกไปเสมอกับ แอตเลติโก มาดริด 1-1 เมื่อวันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานั้น มันเป็นประตูที่สร้างสถิติหลายอย่างให้กับตัว อีแลงก้า เอง ไม่ว่าจะเป็นแข้งอายุน้อยที่สุดของ "ปีศาจแดง" ที่ทำประตูในรอบน็อกเอาต์ของ แชมเปี้ยนส์ ลีก ได้ ด้วยวัย 19 ปีกับ 302 วัน หรือการเป็นแข้งอายุน้อยที่สุดอันดับ 5 ของ แมนฯ ยูไนเต็ด ที่ยิงในเกม แชมเปี้ยนส์ ลีก ได้ หากนับรวมจากการลงเล่นในทุกรายการ เป็นต้น

    
อย่างไรก็ตาม นอกจากมันจะเป็นประตูที่สร้างสถิติให้กับ อีแลงก้า แล้วนั้น มันยังเป็นประตูที่มีความหมายกับ แมนฯ ยูไนเต็ด มากกว่าแค่การทำให้พวกเขาได้ผลเสมอกลับมาจาก ว่านต๋า เมโทรโปลิตาโน่ ด้วย เพราะมันถือเป็นประตูที่ 500 ของสโมสรกับการเล่นศึก ยูโรเปี้ยน คัพ/ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก หากนับเฉพาะการเล่นรอบหลักเลยทีเดียว

ทั้งนี้ แมนฯ ยูไนเต็ด ถือเป็นทีมที่ 4 ในโลกที่ยิงประตูถึงหลักดังกล่าวได้ ต่อจาก เรอัล มาดริด ที่ทำไป 1,001 ประตู, บาเยิร์น มิวนิค ที่กดไป 760 ลูก และ บาร์เซโลน่า ที่ทำได้ 624 ประตู ซึ่งเราจะมาดูเกร็ดบางอย่างเกี่ยวกับ 500 ลูกที่ว่าของ แมนฯ ยูไนเต็ด กันสักหน่อย

- ยอดดาวยิง
อันดับ 1 ในชาร์ตดาวซัลโวสูงสุดตลอดกาลในถ้วย ยูโรเปี้ยน คัพ/ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ของ แมนฯ ยูไนเต็ด ตกเป็นของ รุด ฟาน นิสเตลรอย อดีตยอดหัวหอกชาวดัตช์ หลังจากที่เขาเคยกดไป 35 ประตูจากการลงเล่น 43 เกม คิดเป็นค่าเฉลี่ยที่ 0.81 ลูกต่อนัด



สำหรับอันดับ 2 ตกเป็นของ เวย์น รูนี่ย์ ที่กดไป 30 ประตู แต่มันก็มาจากการลงเล่น 85 เกม ทำให้คิดเป็นค่าเฉลี่ยที่ 0.35 ลูกต่อเกม ต่ำกว่าที่ ฟาน นิสเตลรอย ทำได้เยอะมากๆ โดยที่ ไรอัน กิ๊กส์ ตามมาเป็นที่ 3 ด้วยจำนวน 28 ลูกจากการลงเล่น 145 นัด

คนที่ยิงในเกม ยูโรเปี้ยน คัพ/ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก มากที่สุด 5 อันดับแรกของ แมนฯ ยูไนเต็ด (ไม่นับรอบคัดเลือก)
1. รุด ฟาน นิสเตลรอย (35 ประตู - 43 นัด)
2. เวย์น รูนี่ย์ (30 ประตู - 85 นัด)
3. ไรอัน กิ๊กส์ (28 ประตู - 145 นัด)
4. พอล สโคลส์ (24 ประตู - 124 นัด)
5. คริสเตียโน่ โรนัลโด้ (21 ประตู - 58 นัด)

- ค่าเฉลี่ยเกิน 1 ลูกต่อนัด
แม้ว่าในหน้าประวัติศาสตร์ของพวกเขานั้น แมนฯ ยูไนเต็ด จะอุดมไปด้วยนักเตะระดับพระกาฬหลายราย แต่ในบรรดาคนที่ลงเล่นเกมถ้วย "บิ๊กเอียร์" ให้พวกเขาอย่างน้อย 10 เกมนั้น มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่มีค่าเฉลี่ยการทำประตูเกิน 1 ลูกต่อ 1 นัด และคนที่ว่าก็คือ เดนนิส ไวโอลเล็ต



ไวโอลเล็ต ลงเล่นในเกม ยูโรเปี้ยน คัพ ให้กับ แมนฯ ยูไนเต็ด ไปทั้งหมด 12 นัด และทำได้ 13 ประตู คิดเป็นค่าเฉลี่ย 1.08 ลูกต่อเกม โดยทั้ง 13 ลูกที่ว่าแบ่งเป็น 9 ประตูในฤดูกาล 1956-57 กับอีก 4 ลูกในซีซั่น 1957-58 ซึ่ง แมนฯ ยูไนเต็ด ไปถึงรอบรองชนะเลิศได้ในทั้ง 2 ฤดูกาลนั้น ก่อนจะตกรอบด้วยน้ำมือของ เรอัล มาดริด และ เอซี มิลาน ตามลำดับ

- ยิงเยอะสุดของรายการแต่ละซีซั่น
ในประวัติศาสตร์ของการแข่ง ยูโรเปี้ยน คัพ/ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก มันมีทั้งหมด 7 ครั้งที่รางวัลดาวซัลโวประจำฤดูกาลตกเป็นของนักเตะจาก แมนฯ ยูไนเต็ด โดยคนแรกคือ ไวโอลเล็ตต์ ที่เป็นดาวซัลโวของซีซั่น 1956-57 ส่วนครั้งที่สองตกเป็นของ เดนิส ลอว์ ในซีซั่น 1968-69



หลังจากนั้น แมนฯ ยูไนเต็ด ก็ต้องรอยาวจนถึงฤดูกาล 1998-99 กว่าที่นักเตะของพวกเขาจะได้รางวัลดาวซัลโวประจำฤดูกาลของถ้วยบิ๊กเอียร์อีกครั้ง โดยซีซั่นนั้นเป็น ดไวท์ ยอร์ค ที่ได้รางวัลร่วมกับ อังเดร เชฟเชนโก้



ในเวลาต่อมา รุด ฟาน นิสเตลรอย ก็ทำผลงานที่สุดยอดด้วยการคว้ารางวัลดาวซัลโวสูงสุดต่อ 1 ฤดูกาลของ แชมเปี้ยนส์ ลีก ได้ถึง 3 จาก 4 ซีซั่น ประกอบด้วยฤดูกาล 2001-02, 2002-03 และ 2004-05 ขณะที่คนล่าสุดของ แมนฯ ยูไนเต็ด ที่ได้รางวัลนั้นคือ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ที่ทำได้เมื่อฤดูกาล 2007-08

- ชัยชนะที่ขาดลอยที่สุด
แฟนบอล แมนฯ ยูไนเต็ด ส่วนใหญ่อาจจะยังจำวันที่ทีมรักของพวกเขาไล่ต้อน อาแอส โรม่า 7-1 ในเกม แชมเปี้ยนส์ ลีก รอบก่อนรองชนะเลิศ นัดสอง ของฤดูกาล 2006-07 ได้เป็นอย่างดี เพราะมันเป็นวันที่เรียกได้ว่าอะไรก็เข้าทางทีมของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ไปซะทั้งหมดจนทำให้พวกเขาเอาชนะทีมดังจากอิตาลีได้ด้วยสกอร์ที่เยอะเกินกว่าความคาดหมายของหลายคน



อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่เกมที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ชนะด้วยสกอร์ที่ถล่มทลายที่สุดกับการลงเล่น ยูโรเปี้ยน คัพ/ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เพราะเกมที่ว่าคือเกมรอบ พรีลิมินารี่ ราวด์ นัดสอง ของฤดูกาล 1956-57 ที่ แมนฯ ยูไนเต็ด เจอกับ อันเดอร์เลชท์ โดยวันนั้นพวกเขาเอาชนะทีมจากเบลเยียมไปถึง 10-0 จนทำให้มันเป็นการชนะด้วยสกอร์ที่ขาดลอยที่สุดในประวัติศาสตร์ของ แมนฯ ยูไนเต็ด มาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งนั่นถือเป็นซีซั่นแรกที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ร่วมลงแข้งศึก ยูโรเปี้ยน คัพ ด้วย

ถึงกระนั้น เกมที่ว่าก็ไม่ได้เล่นกันที่ โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด เพราะตอนนั้นรังเหย้าของ แมนฯ ยูไนเต็ด ไม่มีแสงไฟมากพอสำหรับการเตะกันในช่วงเย็น โดยพวกเขาต้องไปยืม เมน โร้ด สนามเหย้าของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ มาใช้เป็นสังเวียนชั่วคราวไปก่อน




ความคิดเห็น